เรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรย้อนหลัง
ปรึกษากฎหมายทางแชทไลน์ เรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรย้อนหลัง บทความ: การเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรย้อนหลังตามกฎหมายไทย ความหมายของค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร ค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรคือค่าใช้จ่ายที่พ่อหรือแม่คนหนึ่งต้องชำระเพื่อให้ความช่วยเหลืออีกฝ่ายในการเลี้ยงดูบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ หรือยังต้องพึ่งพิงการสนับสนุนตามความจำเป็นในการดำรงชีวิตและการศึกษา การเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูย้อนหลังหมายถึงการเรียกร้องค่าใช้จ่ายดังกล่าวสำหรับช่วงเวลาที่ผ่านมา ซึ่งอีกฝ่ายไม่ได้ปฏิบัติตามหน้าที่ในการเลี้ยงดูบุตร กฎหมายที่เกี่ยวข้อง กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรย้อนหลัง ได้แก่ 1.ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1564 กำหนดให้บิดามารดามีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตรจนกว่าบุตรจะบรรลุนิติภาวะหรือสามารถเลี้ยงตนเองได้ 2.มาตรา 1598/38 ระบุว่า หากฝ่ายใดไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ อีกฝ่ายสามารถยื่นฟ้องต่อศาลเพื่อขอให้บังคับให้ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูได้ 3.มาตรา 1598/39 กำหนดให้ศาลมีอำนาจพิจารณาเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูย้อนหลังได้ตามความเหมาะสม เงื่อนไขในการเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูย้อนหลัง 1.บุตรต้องยังไม่บรรลุนิติภาวะ หากบุตรอายุเกิน 20 ปีบริบูรณ์ การเรียกร้องค่าอุปการะเลี้ยงดูย้อนหลังจะไม่สามารถกระทำได้ 2.ฝ่ายที่เรียกร้องต้องมีหลักฐานการใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงดูบุตร เช่น ใบเสร็จค่าเล่าเรียน ค่าอาหาร หรือค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่จำเป็น 3.ระยะเวลาในการเรียกร้อง ตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 การเรียกร้องสิทธิในค่าอุปการะเลี้ยงดูย้อนหลังมีอายุความ 5 ปีนับตั้งแต่วันที่พึงต้องชำระ กระบวนการเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูย้อนหลัง 1.ยื่นคำร้องต่อศาล ฝ่ายที่ต้องการเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรต้องยื่นฟ้องต่อศาลครอบครัวและเยาวชน โดยแสดงหลักฐานที่เกี่ยวข้อง 2.ศาลพิจารณา ศาลจะพิจารณาถึงความเหมาะสมและความจำเป็นของค่าใช้จ่ายย้อนหลังที่เกิดขึ้น 3.คำพิพากษา หากศาลเห็นว่ามีมูล ศาลจะมีคำสั่งให้ฝ่ายที่ไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ต้องชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูย้อนหลังตามจำนวนที่กำหนด ปัจจัยที่ศาลพิจารณา •ความจำเป็นของค่าใช้จ่ายในช่วงเวลาที่ผ่านมา •ความสามารถทางการเงินของฝ่ายที่ต้องชำระ •ความเหมาะสมของจำนวนเงินที่เรียกร้อง ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้อง 1.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2124/2562 ศาลฎีกาได้วินิจฉัยว่าบิดาที่ไม่ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรตามข้อตกลงในการหย่าต้องรับผิดชอบชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูย้อนหลังแก่บุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ 2.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1218/2567 กรณีที่มารดาเรียกร้องค่าอุปการะเลี้ยงดูย้อนหลังจากบิดาที่ไม่เคยให้การสนับสนุนค่าใช้จ่าย ศาลเห็นชอบให้เรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูย้อนหลังได้ แต่ต้องไม่เกิน 5 ปี ข้อควรระวังในการเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูย้อนหลัง •การเรียกร้องต้องมีหลักฐานสนับสนุนที่ชัดเจน •การยื่นฟ้องเกินกำหนดอายุความ 5 ปี อาจทำให้สิทธิเรียกร้องหมดไป •ค่าอุปการะเลี้ยงดูย้อนหลังต้องมีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์จริง สรุป การเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรย้อนหลังเป็นสิทธิของผู้ปกครองที่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากอีกฝ่าย อย่างไรก็ตาม การเรียกร้องดังกล่าวต้องดำเนินการภายในกรอบของกฎหมายและมีหลักฐานที่เพียงพอเพื่อให้ศาลพิจารณาอนุมัติ หากท่านประสบปัญหาด้านนี้ ควรปรึกษาทนายความหรือผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายเพื่อรับคำแนะนำที่เหมาะสมและช่วยให้ดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ เกี่ยวกับการเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรย้อนหลังคือ การหย่าโดยความยินยอม กฎหมายให้บิดามารดาตกลงกันว่าฝ่ายใดจะออกเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรเท่าใด หากไม่ได้ตกลงเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรศาลก็มีอำนาจกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรได้ เมื่อฟังว่าหลังจดทะเบียนหย่า จำเลยไม่เคยให้ค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์เลย โจทก์จึงมีสิทธิเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรย้อนหลังได้ ภาระหน้าที่สำคัญของบิดามารดาที่มีต่อบุตรผู้เยาว์ได้แก่หน้าที่อุปการะเลี้ยงดูและหน้าที่นี้มิได้หมดไปเมื่อจดทะเบียนหย่ากันแล้ว การที่สามีภริยาบันทึกที่ท้ายทะเบียนหย่าว่าให้บุตรผู้เยาว์อยู่ภายใต้อำนาจปกครองของมารดาแต่เพียงผู้เดียวนั้นมิได้หมายความว่ามารดาแต่เพียงผู้เดียวเป็นผู้ที่ออกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรแต่เพียงผู้เดียว ดังนั้น มารดามีสิทธิเรียกให้บิดารับผิดจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูย้อนหลังนับแต่วันจดทะเบียนหย่าถึงวันฟ้องได้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2971/2544 บันทึกข้อตกลงหลังทะเบียนการหย่ามิได้กล่าวว่าให้อำนาจปกครองบุตรอยู่กับโจทก์หรือจำเลย กรณีต้องถือว่าโจทก์จำเลยต่างเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรร่วมกันตามมาตรา 1566 วรรคหนึ่งส่วนมาตรา 1522 วรรคหนึ่งนั้น มีความหมายเพียงว่าในการหย่าโดยความยินยอม สามีและภริยาอาจตกลงกันในบันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่าว่าฝ่ายใดจะเป็นผู้ออกเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรเป็นจำนวนเท่าใด หากมิได้กำหนดศาลก็ย่อมเป็นผู้กำหนดจำนวนเงินให้ได้ตามสมควรตามมาตรา 1522 วรรคสอง เมื่อข้อความตามบันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนหย่า ไม่ใช่ข้อตกลงเรื่องออกเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรเป็นจำนวนเท่าใด ดังนั้นศาลจึงมีอำนาจกำหนดให้จำเลยออกค่าอุปการะเลี้ยงดูได้ และหลังจดทะเบียนหย่าในปี 2537 จำเลยมิได้ให้ค่าอุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์ โจทก์จึงเรียกให้จำเลยรับผิดจ่ายเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรย้อนหลังตั้งแต่ปี 2537 จนถึงวันฟ้องได้
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์เดือนละ11,000 บาท นับแต่เดือนสิงหาคม 2537 จนกว่าผู้เยาว์จะบรรลุนิติภาวะ จำเลยให้การและฟ้องแย้ง ขอให้ถอนอำนาจปกครองบุตรของโจทก์และให้จำเลยเป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์แต่เพียงผู้เดียว โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องแย้ง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้ค่าอุปการะเลี้ยงดูเด็กชายทัน........ ผู้เยาว์ให้แก่โจทก์นับถึงวันฟ้องเป็นจำนวน 80,000 บาท และต่อไปให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูเดือนละ 5,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (8 กุมภาพันธ์ 2539) เป็นต้นไปจนกว่าบุตรผู้เยาว์จะบรรลุนิติภาวะ จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์แก่โจทก์เดือนละ 5,000 บาท นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 8 กุมภาพันธ์2539) จนกว่าเด็กชายทัน...... ผู้เยาว์จะบรรลุนิติภาวะ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์และจำเลยฎีกา ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า "...พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่า โจทก์จำเลยเป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายจดทะเบียนสมรสเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2533 มีบุตร 1 คนคือ เด็กชายทัน........ ผู้เยาว์ ต่อมาวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2535โจทก์จำเลยจดทะเบียนหย่าตามบันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนหย่าเอกสารหมาย ล.3 คดีจึงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยเป็นประเด็นแรกตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยต้องรับผิดจ่ายเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์หรือไม่ เห็นว่า ภาระหน้าที่สำคัญของบิดามารดาที่มีต่อบุตรผู้เยาว์ได้แก่หน้าที่อุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตรในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1564 และภาระหน้าที่อันสำคัญยิ่งนี้มิได้หมดสิ้นไปเมื่อมีการจดทะเบียนหย่าตราบใดที่จำเลยยังมีอำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ ซึ่งคดีนี้ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยไว้เป็นที่ยุติแล้วว่า ตามบันทึกข้อตกลงหลังทะเบียนการหย่ามิได้กล่าวว่า ให้อำนาจปกครองบุตรอยู่กับโจทก์หรือจำเลย กรณีต้องถือว่าโจทก์จำเลยต่างเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรร่วมกันตามมาตรา 1566วรรคหนึ่ง ส่วนที่มาตรา 1522 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ถ้าสามีภริยาหย่าโดยความยินยอม ให้ทำความตกลงกันไว้ในสัญญาหย่าว่าสามีภริยาทั้งสองฝ่าย หรือสามีหรือภริยาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะออกเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร เป็นจำนวนเงินเท่าใด" นั้น ก็มีความหมายเพียงว่า ในการหย่าโดยความยินยอม สามีและภริยาอาจตกลงกันในบันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่าว่าฝ่ายใดจะเป็นผู้ออกเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรเป็นจำนวนเท่าใดหากสามีและภริยามิได้กำหนดจำนวนเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูไว้ในบันทึกข้อตกลง ศาลก็ย่อมเป็นผู้กำหนดจำนวนเงินให้ได้ตามสมควรตามมาตรา 1522 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า "ถ้าหย่าโดยคำพิพากษาของศาลหรือในกรณีที่สัญญาหย่ามิได้กำหนดเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรไว้ให้ศาลเป็นผู้กำหนด" ซึ่งบทกฎหมายดังกล่าวหาได้หมายความถึงขนาดที่ว่า เมื่อมิได้กำหนดให้จำเลยเป็นผู้ออกเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรไว้ในบันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่าจำเลยจะไม่ต้องรับผิดจ่ายเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรดังที่จำเลยฎีกาโต้แย้งแต่อย่างใดไม่ เมื่อพิเคราะห์ข้อความตามบันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนหย่าเอกสารหมาย ล.3 ในข้อ 3ที่ว่า "คู่หย่าทั้งสองฝ่ายสาเหตุแห่งการหย่าเพราะทรรศนะไม่ตรงกันมีบุตรด้วยกัน 1 คน คือ ด.ช.ทัน...... อยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของมารดา" แล้วเห็นว่า ข้อความดังกล่าวไม่ใช่ข้อตกลงเรื่องออกเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรเป็นจำนวนเท่าใดตามมาตรา 1522วรรคหนึ่งแต่อย่างใด ดังนั้น ศาลจึงมีอำนาจกำหนดให้จำเลยออกค่าอุปการะเลี้ยงดูได้ตามมาตรา 1522 วรรคสอง นอกจากนี้บันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่าเอกสารหมาย ล.3 แม้เป็นสัญญาระหว่างโจทก์จำเลย ซึ่งทำขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษรก็มิได้ลบล้างหน้าที่อันยิ่งใหญ่ของบิดามารดาที่มีต่อบุตรผู้เยาว์ การที่โจทก์นำสืบถึงหน้าที่ดังกล่าวของจำเลยซึ่งเป็นบิดา จึงมิใช่การนำสืบพยานบุคคลหักล้างหรือขัดแย้งกับพยานเอกสารดังกล่าวตามข้อกล่าวอ้างของจำเลยเช่นกัน คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1775/2523 ที่จำเลยยกขึ้นอ้าง ข้อเท็จจริงและประเด็นข้อพิพาทไม่ตรงกับคดีนี้ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยต้องรับผิดจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์ให้แก่โจทก์นั้น ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของโจทก์มีว่า โจทก์เรียกให้จำเลยรับผิดจ่ายเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูย้อนหลังตั้งแต่ปี 2537 ซึ่งเป็นปีที่โจทก์อ้างว่า จำเลยไม่จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์จนถึงวันฟ้องเป็นเงิน80,000 บาท นอกเหนือจากค่าอุปการะเลี้ยงดูนับแต่วันฟ้องเดือนละ5,000 บาท จนกว่าผู้เยาว์จะบรรลุนิติภาวะได้หรือไม่ ข้อนี้ เห็นว่าเมื่อได้วินิจฉัยไว้ในประเด็นแรกแล้วว่า หน้าที่อุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตรในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์ เป็นภาระหน้าที่อันสำคัญของจำเลยผู้เป็นบิดา ซึ่งมิได้สิ้นสุดลงหลังการจดทะเบียนหย่า แม้บันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่าเอกสารหมาย ล.3 มิได้ระบุให้จำเลยเป็นผู้ออกเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์เป็นจำนวนเงินเท่าใด ศาลก็ย่อมกำหนดจำนวนเงินให้ได้ตามสมควร เมื่อโจทก์นำสืบได้ความชัดแจ้งและจำเลยเองก็ยอมรับว่า หลังจดทะเบียนการหย่าในปี 2537 จำเลยมิได้ให้ค่าอุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์ เนื่องจากจำเลยยืนยันว่าไม่เคยตกลงที่จะให้ค่าอุปการะเลี้ยงดู โจทก์ก็เรียกให้จำเลยรับผิดจ่ายเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรย้อนหลังตั้งแต่ปี 2537 จนถึงวันฟ้องได้ ซึ่งศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยกับศาลชั้นต้นที่กำหนดให้ตามสมควรเป็นเงิน 80,000 บาท เพราะทั้งโจทก์จำเลยต่างก็มีอาชีพเป็นหลักฐานมั่นคง แต่จำเลยมีอาชีพเป็นทันตแพทย์ ย่อมมีรายได้ดีกว่าโจทก์ที่มีอาชีพเป็นเภสัชกร ที่ศาลอุทธรณ์ไม่กำหนดเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์อีก 80,000 บาท ให้แก่โจทก์นั้นไม่ชอบ ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น" พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
|